วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2562


                                                 บทคัดย่อวิทยานิพนธ์ ภาษาไทย 5 เรื่อง
เรื่องที่ 1
Title: กระบวนการดำเนินงาน ปัญหา และแนวทางการแก้ปัญหาการประกันคุณภาพการศึกษา : กรณีศึกษาโรงเรียนนำร่อง สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดอุทัยธานี
Other Titles: Implementation process, problems and solution of the educational quality assurance : a case study of pilot school, Office of Uthaithanee Provincial Primary Education
Authors: สยาม สุ่มงาม
Advisors: นิศา ชูโต
Other author: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บัณฑิตวิทยาลัย
Advisor's Email: Nisa.X@chula.ac.th
Subjects: ประกันคุณภาพการศึกษา
คุณภาพการศึกษา
Issue Date: 2541
Publisher: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Abstract: การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนนำร่อง ของสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดอุทัยธานี โดยวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้เวลาในการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม เป็นระยะเวลา 4 เดือน เก็บข้อมูลในสนามจากการสังเกตแบบมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ รวมทั้งการวิเคราะห์เอกสาร ผลการวิจัยพบว่า กระบวนการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษาของสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดอุทัยธานี เริ่มดำเนินการปีการศึกษา 2541 ระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี โดยขานรับนโยบาย 4 ประกัน มีการดำเนินงานโดยใช้กรอบซึ่งสอดคล้องกับ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ 3 ขั้นตอน 1) การควบคุมคุณภาพการศึกษา 2) การตรวจสอบ และปรับปรุงโรงเรียน และ 3) การประเมินคุณภาพโรงเรียนเพื่อการให้ใบรับรองมาตรฐานการศึกษา ในฐานะจังหวัดนำร่อง สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดอุทัยธานี เข้าสู่ระบบประกันคุณภาพในขั้นตอน การควบคุมคุณภาพการศึกษา มีการปรับขยายเกณฑ์มาตรฐานโรงเรียนให้เหมาะสมกับท้องถิ่นด้วยการทำประชาพิจารณ์ (ขณะนี้ยังไม่เสร็จสิ้น) พร้อมทั้งจัดอบรมบุคลากร จำนวน 5 ครั้ง ซึ่งเป็นผู้บริหาร และศึกษานิเทศก์ จำนวน 50 คน เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษา นำไปถ่ายทอด และนิเทศ ติดตาม การปฏิบัติงานของผู้บริหารโรงเรียนในสังกัด จำนวน 260 โรงเรียน ปัญหาที่พบคือ การนำความรู้ไปถ่ายทอดของศึกษานิเทศก์ให้กับผู้บริหารโรงเรียนส่วนใหญ่ใช้วิธีการผนวกในงานปกติ คือ การประชุมผู้บริหารประจำเดือน น้อยแห่งที่ใช้การฝึก อบรมพิเศษทำให้ผู้บริหารโรงเรียนบางคนได้รับความรู้ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษา นอกจากนี้ยังพบว่า การนิเทศ กำกับ ติดตาม การถ่ายทอดยังไม่เป็นระบบ และยังพบว่า ทัศนคติ และพฤติกรรมการทำงานของบุคลากรทางการศึกษาบางคน ยังมิได้มีการเปลี่ยนแปลงขาดความรู้ ความตระหนักในเรื่องของการมีส่วนร่วมของชุมชน พร้อมทั้งงบประมาณมิได้มีการจัดสรรให้สอดคล้องกับโครงการประกันคุณภาพการศึกษา แนวทางการแก้ปัญหาของจังหวัด ด้านการถ่ายทอดความรู้ และการมีส่วนร่วมของชุมชน หน่วยศึกษานิเทศก์ของจังหวัดได้ดำเนินการนิเทศด้วยการให้คำแนะนำด้านวิชาการ กระตุ้นเตือนการปฏิบัติงานของผู้บริหารโรงเรียน ให้เร่งรีบดำเนินการตามนโยบายการประกันคุณภาพการศึกษา ด้วยการผนวกเข้ากับการประชุมผู้บริหารประจำเดือน และการให้ความช่วยเหลือเป็นรายกรณี ด้านการขาดงบประมาณ ผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัด ได้มีนโยบายให้ดำเนินโครงการโดยใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวยังไม่ปรากฎผลที่ชัดเจน เนื่องจากอยู่ระหว่างการดำเนินงาน โรงเรียนนำร่องเข้าสู่ระบบประกันคุณภาพการศึกษาด้วยการจัดทำธรรมนูญโรงเรียน ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการควบคุมคุณภาพการศึกษา เป็นการจัดทำมีไว้เพื่อ "ประกันตนเอง" เนื่องจากคณะกรรมการโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง และชุมชน มีส่วนร่วมในการจัดทำเพียงบางส่วน ทั้งนี้เป็นเพราะเป็นการจัดทำที่ถูกเร่งรัดด้วยเวลาเพียง 2 เดือน อีกทั้งคณะผู้จักทำยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษา และการจัดทำธรรมนูญโรงเรียน ไม่เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของชุมชน และคณะกรรมการโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ยังไม่เข้าใจ และไม่สนใจ บทบาท หน้าที่ของตน ในการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของชุมชน เพื่อชุมชน จากการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ของโรงเรียน ทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านโรงเรียน และสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา หลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนและด้านกระบวนการบริหาร ยังไม่ปรากฎผลการดำเนินงานที่เด่นชัด เนื่องจากขาดงบประมาณ และอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ

เรื่องที่ 2
Title: การศึกษาสภาพและปัญหาของผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษในระยะส่งต่อด้วยกระบวนการเรียนรู้การฝึกการทำงาน: กรณีศึกษาในศูนย์บรรณสารสนเทศทางการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Other Titles: A study of state and problem of special needs students in transitional period on work-based learning at Educational Information Resources Center, Faculty of Education, Chulalongkorn University
Authors: สุวิมล ธนะผลเลิศ
Email: suvimon@chulkn.car.chula.ac.th
Other author: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะครุศาสตร์
Subjects: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ศูนย์บรรณสารสนเทศทางการศึกษา
การศึกษาพิเศษ -- หลักสูตร
เด็กพิเศษ -- การทำงาน
การเรียนรู้
การฝึกงาน
Issue Date: 2551
Publisher: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Abstract: การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาพและปัญหาผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษในระยะส่งต่อ เพื่อวิเคราะห์กระบวนการฝึกการทำงานที่เหมาะสม เพื่อการติดตามผลการฝึกการทำงาน และเสนอแนวทางส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษในระยะส่งต่อด้วยกระบวนการเรียนรู้การฝึกทำงาน ในศูนย์บรรณสารสนเทศทางการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ประชากร คือ ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษในระยะส่งต่อ ของโครงการการศึกษาพิเศษ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 2 คน เป็นชายสมมติชื่อ มิวสิค เป็นหญิงสมมติชื่อ ลูกโป่ง ผลการวิจัยได้ข้อค้นพบหลัก 3 ประการ ประการแรก จากการมอบหมายงานในระยะแรก 13 งานได้แก่ ประทับตราหนังสือ แยกประเภทหนังสือจัดหมวดหมู่ พิมพ์บัตร พิมพ์ซอง ติดแถบแม่เหล็ก ประทับตราวารสาร ตัดปะข่าวการศึกษา ซ่อมหนังสือ บริการวิทยานิพนธ์ ตรวจหนังสือและรับฝากสิ่งของ จัดเก็บจัดเรียงหนังสือภาษาไทยจัดเก็บจัดเรียงหนังสือภาษาอังกฤษ จัดเก็บจัดเรียงวารสารภาษาไทย-ภาษาอังกฤษ บริการสื่อประสม และสืบค้นข้อมูลเพื่อการเรียนรู้ พบว่ามิวสิคผ่านเกณฑ์ 6 งาน ไม่ผ่านเกณฑ์ 7 งาน ส่วนลูกโป่ง ผ่านเกณฑ์ 11 งาน ไม่ผ่านเกณฑ์ 2 งาน ในระยะที่สองให้ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษในระยะส่งต่อเลือกคนละ 4 งาน ผู้เรียนที่ต้องการพิเศษทั้งสองคนเลือก งานใหม่ 2 งานคือ บริการคอมพิวเตอร์และบริการยืม-คืนหนังสือ ผลการฝึกการทำงานในระยะที่สอง พบว่าทั้ง มิวสิคและลูกโป่งผ่านเกณฑ์ 2 งาน ไม่ผ่านเกณฑ์ 2 งาน ประการที่สอง ผลการติดตามการฝึกการทำงานของผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษในระยะส่งต่อ จากกลุ่มผู้ใช้บริการในศูนย์บรรณสารสนเทศทางการศึกษากลุ่มนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพและผู้ปกครองมิวสิคและลูกโป่งโดยการสัมภาษณ์และการสังเกตการณ์พบว่า การเรียนรู้ด้วยกระบวนการฝึกการทำงานเป็นการให้โอกาส ให้ความหวัง ให้ประสบการณ์ ในการพัฒนาการเรียนรู้ ความสามารถและทักษะต่างๆ จากการทำงานจริง มีความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น กล้าพูดคุย สามารถปรับตัวได้ มีความภาคภูมิใจที่ได้ทำงาน มีความรับผิดชอบ สามารถช่วยงานผู้ปกครองได้มากขึ้น พฤติกรรมปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น สามารถนั่งทำงานได้นานและ มีสมาธิมากขึ้น กระบวนการฝึกการทำงานในลักษณะนี้ทำให้ได้สัมผัสสภาพสังคมที่เป็นจริง ช่วยพัฒนาทักษะอารมณ์และสังคม ประการสุดท้าย กระบวนการฝึกการทำงานต้องมีกระบวนการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดควบคู่กันไปด้วย อีกทั้ง ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมืออย่างจริงจังรวมทั้งให้ความรัก ความเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด จะสามารถช่วยพัฒนาผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษในระยะส่งต่อมีความพร้อมในการพึ่งพาตนเองมากขึ้น ช่วยปลูกฝังทักษะการทำงานให้มีระบบ ระเบียบ มีความอดทน มีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในครอบครัวและสังคมได้อย่างมีความสุขข้อเสนอแนะ หน่วยงานต่างๆ อาจ ใช้กระบวนการฝึกอบรมเช่นเดียวกันนี้ไปประยุกต์ใช้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษในระยะส่งต่อได้พัฒนาทักษะการทำงานอันนำไปสู่ความสามารถในการประกอบอาชีพต่อไป

เรื่องที่ 3
Title: การปรับปรุงระบบการตรวจสอบคุณภาพในสายการผลิตของโรงงานตู้เย็น สำหรับมาตรฐาน มอก. 9000
Other Titles: Improvement of quality inspection systems in the production line of a refrigerator factory for the Iso 9000
Authors: ธนา บุญประสิทธิ์
Advisors: ชูเวช ชาญสง่าเวช
ประเสริฐ อัครประถมพงศ์
Other author: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บัณฑิตวิทยาลัย
Issue Date: 2538
Publisher: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Abstract: การศึกษาวิจัยนี้มุ่งปรับปรุงระบบการตรวจสอบคุณภาพในส่วนของการตรวจสอบคุณภาพของขึ้น ส่วนจ้างผลิตและการตรวจสอบคุณภาพในกระบวนการผลิต โดยใช้โรงงานผลิตตู้เย็นแห่งหนึ่งเป็นกรณีศึกษา วัตถุประสงค์ของการวิจัยในครั้งนี้คือ 1) เพื่อปรับปรุงระบบคุณภาพให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งการมีระบบการประเมินผลและติดตามการทำงานที่ดี เพื่อคงประสิทธิภาพการทำงานไว้อย่างต่อเนื่อง 2) เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกไป เป็นที่เชื่อถือของลูกค้า และเป็นการเตรียมการในการดำเนินงานตามระบบคุณภาพอนุกรมมาตรฐาน มอก. 9000 ในการวิจัยนี้ได้ทำการปรับปรุงระบบการตรวจสอบคุณภาพโดย 1) จัดทำและปรับปรุงระบบเอกสารสำหรับใช้ในการตรวจสอบคุณภาพ ซึ่งประกอบด้วย นโยบายคุณภาพ คำสั่งปฏิบัติงาน คู่มือทางเทคนิค ใบรายงาน และเอกสารสนับสนุนต่าง ๆ ที่ใช้ในการบันทึกคุณภาพสำหรับนำมาใช้ในการประเมินผลการทำงานและการปฏิบัติการแก้ไข 2) อบรมให้ความรู้กับผู้ปฏิบัติงาน และ 3) ตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินงาน รวมทั้งการวางระบบการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่พบในการตรวจสอบคุณภาพ ผลการวิจัยสรุปได้ว่า การปรับปรุงระบบการตรวจสอบคุณภาพดูจะช่วยให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์ดีขึ้น โดยวัดผลได้จากการที่ขึ้นส่วนจ้างผลิตพบข้อบกพร่องและมีจำนวนครั้งของการส่งคืนลดลง 22% และการสุ่มตรวจสอบผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปพบข้อบกพร่องลดน้อยลง 41%

เรื่องที่ 4
Title: การจัดตั้งระบบประกันคุณภาพในโรงงานผลิตน้ำตาลซอร์บิทอล
Other Titles: Quality assurance system set-up in sorbitol manufacturing
Authors: ชูศักดิ์ อนุชาติบุตร, 2519-
Advisors: สุทัศน์ รัตนเกื้อกังวาน
Other author: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะวิศวกรรมศาสตร์
Advisor's Email: Suthas.R@Chula.ac.th
Subjects: อุตสาหกรรมน้ำตาล--การควบคุมคุณภาพ
การบัญชีต้นทุนกิจกรรม
ประกันคุณภาพ
โรงงานผลิตน้ำตาลซอร์บิทอล
Issue Date: 2547
Publisher: จุฬาลงกรณ์มหวิทยาลัย
Abstract: วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ เป็นการวิจัยเพื่อจัดตั้งระบบประกันคุณภาพในโรงงานผลิตซอร์บิทอลและต้นทุนคุณภาพเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ จากการศึกษาสภาพปัจจุบันของโรงงานตัวอย่าง พบว่า ทางโรงงานตัวอย่างประสบปัญหาเกี่ยวกับต้นทุนคุณภาพของสินค้าค่อนข้างมาก และทำให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพ ดังนั้นในงานวิจัยนี้ได้เสนอให้มีการจัดตั้งระบบประกันคุณภาพขึ้น ในโรงงานเพื่อแก้ไขปัญหาด้านคุณภาพดังกล่าว โดยมีขั้นตอนในการจัดตั้งดังนี้ 1. การจัดตั้งระบบประกันคุณภาพ ผ่านหน่วยงานประกันคุณภาพ 2. การจัดตั้งเป้าหมายของระบบการประกันคุณภาพ 3. กำหนดอำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบของหน่วยงานประกันคุณภาพ 4. การดำเนินการจัดทำระบบประกันคุณภาพในโรงงานตัวอย่าง แต่ในการจัดตั้งระบบประกันคุณภาพนั้น ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นด้วย ดังนั้นในงานวิจัยนี้จะใช้ต้นทุนคุณภาพในการวัดประสิทธิภาพ ว่าสมควรมีระบบประกันคุณภาพหรือไม่ ผลที่ได้จากการดำเนินงานวิจัย คือ ก่อนหน้าที่จะมีการจัดตั้งระบบประกันคุณภาพ ต้นทุนคุณภาพต่อหน่วยของผลิตภัณฑ์ Syrup, Sugar Sorbitol และ Sorbitol compound คือ 17.170, 15.632 และ 31.089 บาท/หน่วยตามลำดับ แต่ระบบประกันคุณภาพช่วยลดต้นทุนต่อหน่วยของผลิตภัณฑ์ Syrup, Sugar Sorbitol และ Sorbitol compound คือ 16.766, 15.411 และ 32.335 บาท/หน่วยตามลำดับ ซึ่งเมื่อคิดเป็นค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้ในเดือนมิถุนายน 2547 = 876,037.54 บาท แสดงให้เห็นว่าการจัดตั้งระบบประกันคุณภาพในโรงงานตัวอย่างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

เรื่องที่ 5
Title: การออกแบบและพัฒนาเครื่องมือสำหรับการจัดการกระบวนการประกันคุณภาพซอฟต์แวร์
Other Titles: Design and development of a tool for managing software quality assurance process
Authors: นริสา นุ่มสร้อย, 2516-
Advisors: ธาราทิพย์ สุวรรณศาสตร์
Other author: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะวิศวกรรมศาสตร์
Advisor's Email: Taratip.S@chula.ac.th
Subjects: ประกันคุณภาพ
ซีเอ็มเอ็ม (ซอฟต์แวร์)
ซอฟต์แวร์ -- การควบคุมคุณภาพ
การออกแบบระบบ
Issue Date: 2545
Publisher: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Abstract: วัตถุประสงค์ของวิทยานิพนธ์นี้ เพื่อออกแบบ และพัฒนาเครื่องมือสำหรับการจัดการกระบวนการประกันคุณภาพซอฟต์แวร์ เครื่องมือนี้สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการประกันคุณภาพซอฟต์แวร์ โดยอ้างอิงมาตรฐานซีเอ็มเอ็ม ระดับที่ 2 โดยผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนแม่แบบของแผนการประกันคุณภาพ แบบสอบถาม รายงานสรุปการประกันคุณภาพซอฟต์แวร์โครงการ และรายงานประจำงวดได้ เครื่องมือดังกล่าวช่วยจัดการดึงข้อมูลจากแผนกำหนดการของโครงการที่เกี่ยวข้องกับการประกันคุณภาพซอฟต์แวร์ และจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูล จัดการแผนการประกันคุณภาพซอฟต์แวร์ของโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ในองค์กร จัดการข้อมูลเกี่ยวกับแผนการประกันคุณภาพซอฟต์แวร์ กำหนดระดับความรับผิดชอบ และออกรายงานเกี่ยวกับการประกันคุณภาพซอฟต์แวร์ รวมทั้งยังช่วยติดตามสถานะของกระบวนการประกันคุณภาพซอฟต์แวร์ได้อีกด้วย เนื่องจากเครื่องมือนี้ได้ถูกออกแบบให้สามารถทำงานได้บนสภาพแวดล้อมแบบผู้ให้บริการและผู้รับบริการ และแบบเว็บ ดังนั้นผู้ใช้สามารถใช้งานเครื่องมือนี้ได้ทั้งทางอินทราเน็ต และหรืออินเตอร์เน็ต จากการทดลอง ผลปรากฏว่า เครื่องมือสำหรับการจัดการกระบวนการประกันคุณภาพซอฟต์แวร์ สามารถทำงานได้ตามกระบวนการที่ออกแบบไว้ และมีคุณสมบัติครอบคลุมข้อกำหนดของกระบวนการเอสคิวเอในซีเอ็มเอ็ม ระดับที่ 2 สำหรับองค์กรที่ทดลองเครื่องมือนี้ สามารถดำเนินการตามกระบวนการประกันคุณภาพซอฟต์แวร์ ทั้งในส่วนกิจกรรมเอสคิวเอ และส่วนเอสคิวเอโครงการซอฟต์แวร์ รวมทั้งสามารถเก็บข้อมูลทั้งหมดที่เกิดขึ้น และสร้างรายงานได้ ทำให้กระบวนการประกันคุณภาพซอฟต์แวร์ในองค์กรนั้นเป็นไปอย่างมีระบบ ระเบียบ และบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น